มติชนรายวัน
ฉบับประจำวันพุธที่ 14 กันยายน
2554
“นายไม่อ่านหนังสือ นายจะรู้อะไร”
อ. ศิลป์ พีระศรี
เรียกลูกศิษย์ทุกคนว่า “นาย” มีความปรารถนาดีต้องการให้คนอ่านหนังสือ หากใครไม่อ่านหนังสือ ท่านก็มักบ่นเป็นประจำ
แล้วอวบ สาณะเสน จำมาเล่าให้ฟัง
วิจิตร อภิชาติเกรียงไกร
รวบรวมความทรงจำของศิษย์ อ. ศิลป์ พิมพ์รวมเล่มเป็นหนังสือ รวมคำสอนสำคัญของ
อาจารย์ศิลป์ พีระศรี มีวางขายในงานวันศิลป์ พีระศรี ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร
พรุ่งนี้ 15 กันยายน
อ. ศิลป์ พีระศรี เกิดวันที่ 15 กันยายน 2435 ที่นครฟลอเรนซ์
ประเทศอิตาลี (ในสยามตรงกับแผ่นดิน ร.5)
พ.ศ. 2466
เดินทางเข้ามาสยาม (ในแผ่นดิน ร.6) รับราชการตำแหน่งช่างปั้น
กรมศิลปากร
ถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2505 สิริรวมอายุ
69 ปี 7 เดือน 29 วัน อยู่ในประเทศไทย 38 ปี
จะขอคัดคำสอน อ. ศิลป์
มาให้อ่านอีกบางบทบางตอนต่อไปนี้
“อย่าถือว่าเราเป็นคนเก่ง
ต้องศึกษาเล่าเรียนอีกมาก ฉันเองก็ยังศึกษาหาความรู้อยู่ตลอดเวลา” อ. ศิลป์ให้โอวาท สนิท ดิษรพันธ์ เมื่อเรียนสำเร็จจิตรกรรมคนเดียวในปีนั้น
“ในบรรดาศิลปะด้วยกัน
ดนตรีเป็นสิ่งเร้าอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนได้มากที่สุด” อ. ศิลป์บอกกับคนอื่นๆ และสมเกียรติ หอมเอนก แล้วบอกอีกว่า “เมื่อเรามีนักดนตรีที่มีความสามารถสูงมาบรรเลงในบ้านเรา
เราก็ใคร่จะให้ญาติสนิทมิตรสหายได้มาร่วมเสพสุนทรียรสกับเราด้วย”
“พวกเธอต้องเรียนรู้ความเป็นมนุษย์ก่อน…แล้วจึงเรียนศิลปะ” อ. ศิลป์ พีระศรี กล่าวกับนักเรียนศิลปะเข้าเรียนที่ศิลปากรในวันแรก แม้ท่านมิได้อธิบายความเป็นมนุษย์
หากแต่พวกเราสามารถเรียนรู้ได้จากแนวทางการดำเนินชีวิตและการปฏิบัติตนของ ท่านที่เป็นไปอย่างสมถะเรียบง่าย
อนันต์ ปาณินท์ ผู้เล่า
“ทุกคนมีความงาม นายต้องค้นให้พบ…แม้แต่คนที่ขี้ริ้วขี้เหร่ที่สุด ก็อาจจะมีความงามที่แอบซ่อนอยู่
อาจจะเป็นนิ้วมือ นิ้วเท้า หรือฟัน หรือแม้แต่จิตใจที่งดงามก็ตาม นายต้องค้นให้พบ…” จิรพันธ์ สุบรรณ ณ อยุธยา ผู้เล่า
“ชาวนาปลูกข้าวให้เรากิน
ทำแผ่นดินให้เป็นประโยชน์ต่อชีวิต ไฉนเล่าเราจึงจะไม่เนรมิตสิ่งซึ่งยกจิตใจให้สูง สมกับที่เราเกิดมาแล้วโดยไม่เปลืองเนื้อที่ของแผ่นดินโลก”
เขียน ยิ้มศิริ ผู้เล่า
…เสียงเพลงยังดังแว่วออกมาจากห้องนั้นคลอไปกับคำสอนมากมาย
หลากหลายอารมณ์ของอาจารย์ฝรั่ง หรือโปรเฟสเซอร์ นั่นนานมาแล้ว…
แต่มันยังแว่วอยู่ในใจของพวกเราทุกคน ทั้งคนที่ได้ยินมาจากหู
และมาได้ฟังจากการบอกเล่า…
“ถ้านายรักฉัน คิดถึงฉัน ขอให้นายทำงาน”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น