วันอังคารที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2565

เหล้าเก่าในแก้วเก่า

โดย...นายซีเนียร์



     เมื่อตอนที่ผมย่างเข้ามหาวิทยาลัยใหม่ๆนั้น ผมยังจำภาพที่สับสนขณะเมื่อเริ่มเข้ามาฝึกมือก่อนที่จะมาเอนทรานซ์เข้าอย่างติดตา พวกเราเป็นรุ่นที่4 หรือที่สมัยหลังเขาเรียกกันว่า รุ่นก๊อก นั่นแหละ  ตอนนั้นแห่มาสมัครสอบถึง 30 คน นับว่ามากเป็นประวัติการณ์ของสมัยนั้น แต่ไปๆมาๆ พอถึงปีสุดท้ายคือปีที่3 กลับเหลือเพียง 5 คน เท่านั้น พวกที่หายไปนั้นมีอันเป็นไปต่างๆ คือสอบตกบ้าง ลาออกไปบ้าง ไม่มีทุนเรียนต่อบ้าง หายหน้าไปเสียเฉยๆบ้าง นับว่าพวกที่เหลือ 5 คน นั้นช่างทรหดพอใช้ ว่าที่จริงแล้ว เมื่อนึกถึงเหตุการณ์สมัยนั้นแล้วก็น่าเห็นใจ เพราะเป็นสมัยสงครามและคาบเกี่ยวกับระยะเมื่อสงครามโลกครั้งที่2 พึ่งยุติลงใหม่ๆ สภาพความเป็นอยู่ขอคนในกรุงเทพฯ สมัยนี้นแสนลำเค็ญเหลือประมาณ จะซื้อผ้าซื้อน้ำตาลก็ต้องใช้บัตรปันส่วน และต้องเข้าคิวกัน อะไรต่ออะไรมันไม่สะดวกสบายไปทุกอย่างเหมือนสมัยนี้ ด้วยเหตุนี้การที่เห็นพวกเรานุ่งกางเกงตัวเดียว ตลอดปีตลอดชาติ มันก็ไม่ใช่ของแปลกสำหรับสมัยนั้น ปัญหายุ่งยากหลายอย่างที่เราประสบกันก็คือ เราไม่รู้จะไปหาซื้อสีมาเขียนรูปได้ที่ไหน เรื่องกระดาษอย่าไปพูดถึงกันเลย มันแพงหูฉี่ ใครมีกระดาษวอทแมนเขียน ก็ต้องนับว่าเขาเป็นเทวดาจุติลงมาเกิดกันได้แล้ว

     เมื่อตอนที่เรามาฝึกมือเขียนรูประหว่างปิดภาคปลายของมหาวิทยาลัยนั้น ตอนนั้น ต้องใช้กระดาษห่อของมาเขียน ครอว์อิ้งกัน กระดาษห่อของก็เป็นกระดาษชนิดเดียวกับที่เขาใช้พิมพ์หนังสือพิมพ์ปัจจุบันนั่นแหละ ถ้าใครวิเศษหน่อยก็อาจจะไปสรรหากระดาษห่อของชนิดหนาๆ สีน้ำตาลและสีเทามาได้บ้าง ที่มหาวิทยาลัยมีกระดาษขายเหมือนกัน เป็นกระดาษสำหรับร่างเขียนแบบงานสถาปัตย์ ผิวมันและลื่น เราไม่ค่อยนิยมกันเท่าไหร่นัก ส่วนมากก็ใช้กระดาษปรู๊ฟกันเป็นพื้น แม้ว่ามันจะบางไปหน่อย พอโดนยางลบ 2-3 ที ก็ขาด ก็ไม่เป็นไร พอทนประคับประคองไปได้ ดินสอที่ดีที่สุดในสมัยนั้น ก็คือ ดินสอดำตราช้าง แล้วก็ดินสอตราพระจันทร์ อย่างดำที่สุดมีแค่ 4B เท่านั้น อย่าไปหาดินสอใส้โตๆขนาด 6B หลายต่อหลายยี่ห้ออย่างสมัยนี้เสียให้ยากเลย สมัยนั้นหาทำยายาก เรื่องยางลบนั้นมันแพงเสียจนเราไม่ค่อยใช้กัน เวลาจะเขียนรูปก็ต้องคอยหยิบยืมกัน ส่วนมากผู้หญิงเป็นฝ่ายมียางลบ ว่าที่จริงมันก็ไม่ค่อยแพงเท่าไหร่ คงจะเป็นเพราะเราขี้เกียจซื้อกันเสียมากกว่า

     ระหว่างที่พวกเรามาฝึกมือกันนั้น ก็มีรุ่นพี่ๆ มาช่วยแก้งาน มาติชมให้บ้าง คนที่ช่วยพวกเราและเป็นกันเองกับเราที่สุดก็คือ พี่พูน ( พูน เกษจำรัส )  บางวันพี่พูนก็ร้องเพลงแหล่ให้ฟัง  เสียงกึกก้องสตูดิโอกันทีเดียว พอเสียงรองเท้าเดินกึกๆ และเสียงเขย่าพวงกุญแจเดินครงมาที่ประตูห้องเท่านั้น พี่พูนเงียบกริบเป็นปลิดทิ้ง แล้วก็หาทางเลี่ยงออกทางประตูอื่นไป บุคคลที่เข้ามาและสามารถสะกดให้พวกเรางงจังงังไปหมดนั้น ท่านผู้นี้คือ ศาสตราจารย์ศิลป์  พีระศรี  สมัยนั้นท่านดุมาก พวกเรากลัวกันลนลาน เคยมีรุ่นลายครามคือ อาจารย์แสวง สงฆ์มั่งมี ท่านเคยเล่าให้เราฟังว่า ตอนที่ท่านเรียนอยู่นั้น อาจารย์ฝรั่งดุยิ่งกว่านี้ คราวหนึ่งไฟไหม้แถวบ้านหม้อ ท่านกับเพื่อนก็แอบหนึไปดูไฟกัน กลับมาถึง ปรากฏว่า อาจารย์ยืนคอยอยู่ในห้องแล้ว ท่านถามว่าไปไหน อาจารย์แสวงใจหายหมดไปทั้งตัว ทำใจเย็น บอกว่าไปดูไฟไหม้มา เท่านั้นแหละอาจารย์ฝรั่งก็ตวาดลั่นห้อง จับตัวท่านโยนกระเด็นออกไปนอกห้อง เพราะสมัยนั้นการสอนเข้มงวดมาก ไม่ยอมให้มีเวลาว่างกันเลยแม้แต่น้อย

     เรื่องกลัวอาจารย์ฝรั่งนี้ เล่ากันว่ามีแทบทุกรุ่น รุ่นหลังๆ ผมเคยเห็นคาตาบ่อยๆหลายครั้ง ครั้งหนึ่งพวกนักศึกษา รุ่นจูเนียร์ กำลังยืนคุยกันอยู่ที่บาร์ ซึ่งเตรียมสร้างไว้สำหรับการต้อนรับน้องใหม่ มีอยู่ 5-6 คน รวมทั้ง โทนี่ ด้วย ( แอนโทนี่ พี ด๊อกเตอร์ นักศึกษาจากฟิลิปปินส์ มาเรียนต่อสมัยนั้น )  ระหว่างที่กำลังคุยกันอยู่นั้น ทุกคนเหลือบมองไปเห็น อาจารย์ฝรั่งเดินลับมุมตึกตรงมา ต่างก็รีบหนีกันกระจายไปคนละทิศ คนหนึ่งวิ่งหลบเข้าไปในห้อง อีก 2 คน วิ่งหนีขึ้นไปบนกรมศิลปากร บางคนวิ่งลับมุมห้องเพ้นท์ติ้งไป คนหนึ่งคือ ประโชติ สโมสร  หลบแวะเข้าไปใต้เคาเตอร์ใกล้ๆนั่นเอง ทำให้นายโทนี่ซึ่งยืนคุยด้วย งงเป็นไก่ตาแตก พอเขาเหลือบไปเห็นอาจารย์เข้าเท่านั้นก็เลยเผ่นเข้าไปนั่งหลบอยู่กับประโชติบ้าง ความจริงโทนี่เพิ่งจะเข้าเมืองไทยมาได้เดือนเศษๆเท่านั้น ยังไม่รู้ตื้นลึกหนาบางอะไร แต่ที่พลอยหลบไปด้วย คงจะเป็นเพราะสัญชาตญาณหมู่เสียมากกว่า






     นอกจากรุ่นพี่ๆ จะมาฝึกมือให้แล้ว ก็มี อาจารย์สนั่น ศิลากรณ์ อีกท่านหนึ่ง ท่านมาสอนพวกเราทุกๆวัน พวกเรารักท่านมาก เพราะท่านเป็นอาจารย์ที่เอาใจใส่ มาสอนตรงเวลาทุกครั้งไม่เคยขาด แม้วันเสาร์ วันอาทิตย์ก็ยังมา ไม่ยอมพักผ่อนเหมือนกัน การฝึกมือในสมัยนั้นนับว่าได้ผลดีมาก พอถึงคราวสอบเอนทร้านส์เข้ามหาวิทยาลัย ก็ปรากฏว่าพวกเราสอบกันได้หมดทุกคน

บรรยากาศของศิลปากร ในสมัยนั้นดูศักดิ์สิทธิ์ยังไงขอบกล ไม่ว่าจะย่างเจ้าไปในห้องใด จะพบรูปปั้นวางระเกะระกะเต็มไปหมด แม้บนลานปูนก็จะมีรูปทหาร (จากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ) ตั้งสูงตระหง่านยืนติดหลังคาวางอยู่เป็นระยะๆ ห้องเรียนของเราเป็นสตูดิดอขนาดใหญ่ มีอยู่ 3 หลัง หลังแรกขวางอยู่ด้านทิศใต้ใกล้กับตึกขาวของ พระพรหมพิจิตร ห้องนี้เรียกว่าห้องดรอว์อิ้ง พวกเรามาฝึกมือกันในห้องนี้แหละ ห้องนี้ยังนับว่าเป็นห้องใหญ่ที่สุด สมัยเมื่อมหาวิทยาลัยศิลปากรจัดให้มีการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งแรกๆนั้น ก็จัดแสดงกันในห้องนี้เอง มีทางผ่าน แยกเป็นห้องเล็กไว้อีกห้องหนึ่ง  ห้องนี้เป็นห้องของ ศาสตราจารย์ พระเจนดุริยางค์ สมัยนั้นมี คณะดุริยางค์ศาสตร์ ด้วย แต่ยังไม่ได้เปิดการสอน ในห้องนั้นมีเปียโนขนาดใหญ่อยู่หลังหนึ่ง จะมีเสียงเปียโนดังอยู่ตลอดทั้งวัน ดูเหมือน คุณเทพ จุลดุลย์ ก็เคยมาฝึกเล่นอยู่พักหนึ่งเหมือนกัน เมื่อเวลาเราเขียนดรอว์อิ้งกัน ก็จะมีเสียงเปียโนบรรเลงให้ได้ยินเป็นแบ๊คกราว์น เป็นการฝึกรสนิยมให้เราหันมาชอบเพลคลาสสิค กลายๆอยู่ในตัว

     ถัดจากห้องดรอว์อิ้งไปทางทิศเหนือ คือด้านที่ใกล้กับหอสมุด ตรงนั้นเป็นห้องเพ้นท์ติ้ง พวกซีเนียร์เขายึดครองอยู่ที่ห้องนี้ มีอยู่ 3-4 คน พวกนี้ซีเรียสมาก เราเคยไปชะโงกภายในห้อง เห็นเขาจัดหุ่นสติลไลฟ์เป็นกรุ๊ปแตรวงขนาดใหญ่ มีกลอง แตร และ เครื่องเคราทางดนตรีอย่างครบครัน แต่ละคนกำลังยืนเขียนรูปสีฝุ่น อย่างขมักเข้มนบนแผ่นกระดาษไม้อัดสูงท่วมหัว เขาเขียนเสียเหมือนมาก แม้เชือกที่ขึงกลองก็เขียนหมด กระทั่งเกลียวเชือก แตรทองเหลืองก็เขียนเป็นมันวับ เขียนกันหลายอาทิตย์ เราต้องแอบไปดูบ่อยๆ แต่ไม่กล้าเข้าไปเพราะแต่ละคนหน้าตาขึงขัง เขาไม่ยอมยิ้มกับพวกเราเสียเลย ทำเอาพวกเรากลัวไปตามๆกัน มีอยู่คนหนึ่งชื่อ สวัสดิ์ ตันติสุข ดูเหมือนอายุน้อยกว่าเพื่อน เคยยิ้มกับพวกเราบ้าง แต่เมื่อเขาเข้าไปอยู่ในห้องนั้น เวลาเราโผล่หน้าเข้าไป มองหน้าเขายังไม่มองเลย เขาเขียนรูปกันไปทั้งวัน จะพูดว่าทั้งคืนก็พูดได้ เพราะพอเรามาถึงมหาวิทยาลัย ก็เห็นพวกนี้อยู่ในห้องเสียแล้ว ถ้าเขาไม่เขียนรูปทั้งคืน ก็คงมาดรงเรียนกันแต่เช้ามืดแน่ๆ ห้องนี้เงียบสงัด เราได้ยินแม้เสียงกิ่งต้นจันหน้าห้องส่ายพลิ้วไปกับลมเบาๆ มันผิดกับห้องดรอว์อิ้งเสียลิบลับ แทบจะพูดว่าเป็นคนละโลก ห้องดรอว์อิ้งซึ่งเป็นห้องแรกที่เรารู้จัก ใครต่อใครเมื่อย่างเข้ามาในดินแดนนี้ จะต้องรู้จัก ห้องนี้ก่อนทั้งนั้น มันสว่างไสว เพดานสูงลิบลิ่ว หน้าต่างกระจกยาวเหยียดสุดลูกหูลูกตา เราตะเบ็งร้องเพลงกันอย่างกึกก้องในบางโอกาสได้อย่างเสรี ไม่เคยมีใครห้าม เรายังเคยคิดกันเลยว่า ถ้าเราเรียนต่อไปจนได้มีโอกาสอยู่ในห้องซีเนียร์บ้างแล้ว มิต้องเป็นใบ้ไปตามๆกันหรือ มันเงียบเหงาวังเวงห่อเหี่ยวยังไงขอบกล ซ้ำหลังห้องซีเนียร์ ซึ่งต่อมาเรียนกกันว่าห้องเพ้นท์ติ้งนั้น มีดงมะละกอหนาทึบ ที่ดงมะละกอแห่งนี้ เคยมีนิยายเล่ากันมาหลายสมัย ต่างก็อ้างอิงว่ามะละกอเคยช่วยชุบชีวิตคน    ยามอดอยากมาแล้วเกือบทุกรุ่น แม้ในรุ่นของ อุไร ศิริสมบัติ เขาก็เคยคุยว่า เคยเอามะละกอดิบมาต้มกินเหมือนกัน

     หลังจากสอบเอนทร้านซ์ได้แล้ว เราก็เริ่มเรียนปีที่1 ภายในห้องโถงใหญ่นั่นเอง เรียนรวมปนเปไปกันพวกปีที่2 ส่วนพวกปีที่3 ไม่มีตัวตนแล้ว ได้ข่าวแว่วๆว่า สอบตกหมด เลยหายหน้ากระจัดกระจายไปหมด พวกเราปีที่1 ถึง ปีที่2 ขลุกอยู่ในห้องเดียวกัน มันเป็นโลกอันกว้างใหญ่ไพศาลเสียนี่กระไร นานๆที เมื่อเรามองไปยังห้องตรงข้ามกับลานสนามหญ้าที่พวกซีเนียร์เขาหมดตัวอยู่กัน เราอาจจะเห็นคุณจิตติ จูฑะพล ซึ่งรูปร่างเล็กผมหยิก คาบไปป์ทั้งวัน ออกมายืนพ่นควันอยู่หน้าห้อง บางทีก็เห็นพี่นะ (มานะ บัวขาว) เดินหิ้วกระป๋องน้ำ ถือกระดานสเก็ตซ์เข้าไปในวัดพระแก้ว พวกเราบางคนจะวิ่งไปรับอาสา ช่วยหิ้วกระป๋องน้ำให้ ทั้งนี้ก็เพื่อจะหาโอกาสดูพี่นะเขียนรูป จะได้จดจำไว้เป็นแบบอย่างบ้าง ผมเคยรับอาสาหิ้วกระป๋องน้ำตามพี่นะ เข้าไปวัดพระแก้วหนหนึ่ง เลยเช็ดจนตาย หิวก็หิว เพราะพี่นะแกไม่ยอมออกมากินข้าวกลางวัน แกเขียนจนคนเฝ้าวัดต้องมาเตือนจะปิดประตูจึงออกมาใกล้ค่ำเต็มที พี่นะเขียนรูปเต็มกระดาษวาดเขียนแผ่นใหญ่ แล้วนั่งร่างทั้งวัน ลากเส้นตรงยังกับใช้ไม้บรรทัด แก้ไขเปอร์สเปคตีฟอยู่ทั้งวัน ผมไปเดินดูรูปรามเกียรติ์อยู่หลายต่อหลายรอบ กลับมาพี่นะยังไม่ระบายสีสักที ต้องกลับไปนอนที่ศาลาราย หลับไปตื่นหนึ่ง กลับมาพี่นะยังไม่เปิดกล่องสี จนกระทั่งกลับ พี่นะยังเอาเชือกมาขึ้งตรวจดูเปอร์สเปคตีฟบนพื้นห้อง ตรวจง่วนอยู่จนมืดจึงกลับ วันรุ่งขึ้นจึงระบายสี สมัยนั้นแขียนกันแบบอะคาเดมิค ใครเขียนเส้นเดินผิด เปอรสเปคตีฟผิด อย่าไปหวังเอาคะแนนเลย ผมเองเขียนวัดมาเสียจนเบื่อเรื่องเปอร์สเปคตีฟ พอวันไหนเข้าวัดแล้ว เท่ากับเดินเข้าตะแลงแกงแขวนคออย่างชัดๆ ด้วยเหตุนี้ เมื่อเห็นรุ่นพี่ เขาเชี่ยวชาญในเรื่องนี้ ทำเอาเราท้อแท้ใจไปตามๆกัน อนาคตของพวกเราเบื้องหน้านั้น นึกอยู่อย่างเดียวว่าจะไปรอดหรือไม่รอดเท่านั้น

     น่าเสียดายที่เรามักคิดว่า เราควรจะมีกล้องถ่ายรูปบันทึกบทเรียนบนกระดานดำไว้ทุกครั้ง จะได้เป็นประโยชน์กับคนรุ่นหลังเป็นอย่างมาก เนื่องด้วยบางชั่วโมงที่สอนโดยท่านผู้เชี่ยวชาญ คือ ชั่วโมงศิลปะไทยของ อาจารย์พระเทวาภินิมมิต และ ชั่วโมงสถาปัตยกรรมไทย ของ อาจารย์พระพรหมพิจิตร ทั้งสองท่านนี้ แม้ว่าจะแก่มากแล้ว แต่ท่านก็สามารถเขียนแบบอย่างศิลปไทยลงบนกระดานดำได้สวยงาม ชัดเจน และบางอย่างก็ไม่มีอยู่ในตำราเล่มไหนๆ เมื่อหมดเวลาเรียน รุ่งขึ้นก็ต้องลบทิ้งหมด ผมยังจำได้ติดตาว่า ครั้งหนึ่งอาจารย์พระเทวาภินิมมิต เขียนรูปพระเมรุและ ปราสาทให้เราดูทั้งหลัง เต็มกระดานดำเพื่อให้เราลอก ภาพนั้นเขียนอย่างวิจิตรประณีตยิ่งนัก ถ้าได้ถ่ายรูปไว้จะมีคุณค่ามาก เพราะเดี๋ยวนี้ท่านล่วงลับไปแล้ว เรายังบ่นเสียดายอยู่แม้ในขณะนี้

(ติดตามอ่านต่อในตอนหน้า)

ปล. นายซีเนียร์ คืออีกนามปากกาของ ประยูร อุลุชาฎะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น