วันจันทร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2565

พงษาวดารสังเขปมหาวิทยาลัยศิลปากร

 โดย..นายซีเนียร์




จักดำเนิร พงษาวดาร สำนักศิลปศาสตร นามว่า มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยลำดับโบราณสืบๆกันมา ในอาณาจักรพรรณไม้ลั่นทม อันมีปริมณฑลเขตต์จตุรัส สติตย์เนาว์ ณ เบื้องอุดรทิศแห่งพระราชวังหลวง อันเบื้องปัจจิมทิศมีวังร้างเป็นขอบเตต์สีมา สมเด็จ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงเสด็จครอบครองอยู่ ณ สมัยหนึ่ง ทรงเป็นองค์เอกอัครมหาศิลปินแห่งเมืองบางกอกราชธานีแด่งสยามประเทศ มีนามอันโอฬารว่า กรุงเทพพระมหานครมอรรัตนโกสิทร์ฯ นั้นฯ

ลุศักราช ๑๓๐๕ ปีมะแม เบ็ญจศก วันอังคาร ขึ้น๗ ค่ำ เดือน๑๑ เพลาเที่ยงกับเก้าบาท สถาปนามหาวิทยาลัยศิลปากร ได้อุดมฤกษ์ พระจันทรโคจร สู่บาทฤกษ์สุดท้ายของราศีพิจิก สติตย์เด่นกลางกลุ่มดาวเชฐณี ประกอบด้วยสมโณแห่งฤกษ์ สุริยคติกาลตรงกับเดือน ตุลาคม วันที่๕ พุทธศักราช ๒๔๘๖ นั้นแล ครั้งนั้นสูติกาลอุบัติขึ้น ณ ท่ามกลางสภาในพระราชนิเวศน์ คือพระที่นั่งอนันตสมาคม บรรดาท้าวพระยามุขมนตรี กวีชาติและราษฎรทั้งหลายพร้อมกันสถาปนาขึ้น

แต่เบื้องบรรพกาลนั้น มานพน้อยผู้มีฉวีกายอันงามบริบูรณ์ด้วยอุปนิสัยบรามีศิลปญาณ บำเพ็ญกิจพากเพียรเล่าเรียนในศิลปกรรมศาสตร์จนล้ำหน้าบุรุษอื่นสิ้น รู้แจ้งชำนิชำนาญในกมลสันดานแห่งศิลป์ จนเป็นที่รักของท่านอาจารย์ เธอมีนามว่า แช่ม ขาวมีชื่อ ได้สร้างกิตติคุณขจรขจายไปไกลแม้ในเมืองมะระกัน ข้ามทะเลโพ้นก็ยังส่งงานไปร่วมนิทัศการกับเขาพร้อมด้วยเหล่าสหายร่วมสำนักอันกอปรด้วย สิทธิเดช แสงหิรัญ๑ , สนั่น ศิลากร๑ , พิมาน มูลประมุข๑ , อึกทั้ง อนุจิตร แสงเดือน๑ บุรุษเหล่านี้นับว่าเป็นผู้นำเกียรติยศแห่งสำนัก ให้นฤโฆษบันลือทั่วไปในแผ่นดิน จวบจนร่วมนิทัศการศิลปวันมหกรรมเฉลิมรัฐธรรมนูญ ณ มณฑลวังสราญรมย์ แม้ ณ สนามเสือป่าก็ดี ย่อมยังจิตของมวลชนนิกรให้สโมสรสุขประสาทเปรมปรีดิ์รู้ค่าแห่งศิลปรสเป็นอุปัตติบังเกิดแต่หนแรกเบื้องปฐมแห่งประชาธิปไตยสมัยนั้นแล ในลำดังนั้น มุขมนตรี ฯพณฯ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ลีลาศมาร่วมสโมสรสันติบาตพร้อมมนตรี อธิบดี ทั้งหลาย ได้ทัศนาการ เชยชม อุดมสิริวิลาส จิตรการ ประติมาการ อีกทั้งบริสุทธ์ศิลปทั้ง๕ ก็มีจิตชื่นชมโสมนัส จึงเปล่งอุทานวาทีว่า อันศิลปที่บุรุษไทยพากเพียรฝึกฝนจนเกิดความชำนิชำนาญ อาจเนรมิตรศิลปวิเศษได้เช่นนี้ ย่อมเป็นศรีแก่ประเทศอาจยังบุญบารมีให้สยามแผ่ไพศาลล่วงรู้ไปทั่วนานาประเทศ ควรที่จะทำนุบำรุงให้ถึงขนาด สืบต่อไปเบื้องหน้าจักได้เป็นกำลังแก่แผ่นดิน สร้างความวิจิตรให้แก่พระมหานครเกริกกำจรทั่วท้องนทีสถลเปล่งรัศมีโชติช่วง ครุวนาดุจจันทร์อันแวดล้องด้วยคณะคาราลีลาไปในอัมพรประเทศย่อมสำเร็จกิจดังประสงค์ทุกประการ มหาวิทยาลัยศิลปากร ย่อมอุบัติมาด้วยการฉะนี้แลฯ
ลุพุทธศักราช ๒๔๘๖ คณาจารย์อันกอปรด้วย ทวิชาติ ศาสตรจารย์ ศิลป์ พีระศรี๑ พิมาณ มูลประมุข๑ เขียน ยิ้มศิริ๑ สนั่น ศิลากรณ์๑ แสวง สงฆ์มั่งมี๑ ไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์๑ ประสงค์ ปัทมานุช๑ สนิท ดิษฐพันธุ์๑ พระเทวาภินิมมิต๑ ศาสตรจารย์ พระพรหรหมพิจิตร๑ มจ.ยาใจ จิตรพงศ์๑ มจ.สมัยเฉลิม กฤดากร๑ ได้พร้อมใจกันแสดงวิชาการให้ปรากฏแก่กุลบุตรไทย อมรมบ่มนิสัยให้ศิษย์บรรลุอุตมศิลปศาสตร พรั่งพร้อมกันสิ้นทุกถ้วนหน้า อาจรอบรู้หยั่งไปถึงสรรพสุนทรียะศิลปะทั่วทุกประเทศสถานเบื้องบุราณกาล จวบจนปรัตยุบันสมัย ยากที่จักหาสำนักศิลปะใดมาเทียบ อันเป็นอนัญญสาธารณ์ มิได้มีทั่วไปแก่ผู้อื่นฯ

บุรุษแรกผู้ชำนาญในเชิงการเขียนสี ๒ ประการ คือ ฝุ่นสีผสมกาวอุทก และฝุ่นสีเหลวในหลอดตะกั่วจากประจิมประเทศ อันมีสามัญนามว่า สีน้ำ ใช้พู่กันจุ่มระบายบรรเลงบนกระดาษข่อยฝรั่ง ฝีมือที่ร่างจิตรเลขานั้นเลิศคนยิ่งนัก เข้าผู้นั้นแลมีนามว่า มานะ บัวขาว อีกบุรุษหนึ่งมีมือวิเศษปานกัน ถนัดทางเขียนนาวาอันขนัดในสาคร มีเจ๊ก จีน จาม พราหมณ์ ฝรั่ง กับเดียรดาษด้วยโกสุมปทุมชาติ กวัดไกวปลายพู่กันรวดเร็วประหนึ่งลมพายุ นามของบุรุษนี้ว่า สวัสดิ์ ตันติสุข ผู้เป็นคุรุบดีแห่งช่างศิลปะวิทยาลัยสถานแลฯ

อันมานพ มานะ บัวขาวนั้น ชอบสวมอาภรณ์กางเกงระบัดเขียวใบไม้ ส่วนเสื้อที่สอดใส่นั้นเล่าเป็นของทหารผู้เจนศึกจากสมรภูมิ แต่ครั้งมหายุธนาการเอเชียบูรพา ชื่อว่าชุดเวสปอยท์ เขาเพียรสวมใส่อยู่ชั่วนาตาปี จะมีใครเสมอเหมือนก็หาไม่ วันใดมิได้สถิตประจำอยู่ ณ ห้องจิตรกรรมแล้ว ก็มักจะไปแสวงวิเวกกายเจริญใจเพียรเขียนภาพยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม อยู่จวบจนสายัณหสมัยจึงกลับคืนเนาว์ในมหาวิทยาลัยตน เป็นเช่นนี้อยู่นิจการ ในยามนั้น ภาพเขียนของเขาย่อมปรากฏด้วยรุกชาติทั้งหลายวิจิตรไปด้วยยอดอันแดง มีประพาฬวรรณะดั่งสีครีมอ่อน เบื้องกลางเป็นรัตนมณฑปผุดขึ้นกลางสถลมารค สองข้างวิถีมีพฤกษชาติ หลายหลากล้วนทรงกุสุมชาติเบ่งบานหอมระรื่นรสสุคันธาควรเจริญใจ ใบพฤกษาเบื้องหลังล้วนมีโอภาสอันเขียว ครุวนาดุจโมรกลาป มีสาขาอันรื่นรมณียฐาน ทั้งสุมทุมพุ่มลดาประดับด้วยบุษมาลี แลประหนึ่งมณฑปดูชัฎชื่นช่ออรชรอุดม สรรพคณะพิหคน้อยใหญ่วิจิตรด้วยนานาพรรณ มีนิลวรรณเป็นต้น ยลตระการตา จิตรเลฃาพร้อมกับมีประพิมพายเหมือนทัศนาการต่อเบื้องหน้าธรรมชาตินั้น ควรแล้วที่เขาจักได้รับผลปูนบำเหน็จความชอบ ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า ๗๐ คะแนนทุกนิรันดร์กาลนั้นแลฯ

บุรุณแลสตรีอันร่วมสมาคมกับสองสหายนั้น ยังมีอีก ๔ คือ พูน เกษจำรัส๑ ณรงค์ แย้มเกษสุคนธ์๑ กฤษณา คชเสนีย์๑ แล จิตติ จูฑะพลอีก๑ ล้วนแล้วแต่มีบุญ โดยยิ่งได้ซึ่งมิ่งมหามงคล ศิลปะลาภ อดูลย์มิได้สูญเสียทีที่ได้ร่ำเรียนมาในวิชาอันประเสริฐ กอปรด้วยผลประโยชน์ล้ำเลิศเห็นปานดังนี้ น่าเสียดายหนุ่ม จิตติ จูฑะผล แห่งโคราฆะปุระนครบูรพอีสานประเทศ ต้องดับชีพด้วยอุปัทวเหตุเภทภัยในยามวิกาล บนยานพาหนะมอเตอร์ไซด์ ณ คามนิคมถิ่นเขานั่นแล ยังความโศกอาดูรแก่มวลมิตรชนผู้ร่วมคณะกันมาถ้วนหน้า อันว่าสังขารธรรมทั้งหลาย บ่มิได้เที่ยงแท้เป็นโลกธรรม มีสภาวะเกิดและประลัยอยู่เป็นนิตย์ ดังพระพุทธฎีกาเทศนาไว้ว่า ทหราปิ เย วุฑฺฒา เป็นอาทิ อรรถธิบายความว่า บุคคลใดหนุ่มและแก่ เป็นพาลและเป็นปราชญ์มีทรัพย์แลไร้ทรัพย์ก็ดี ล้วนมีมัจจุภัยเป็นเบื้องหน้าสิ้นทั้งนั้น มีครุวนาดุจภาชนะดินอันนายช่างหม้อกระทำ ถึงจะเล็กใหญ่ดิบสุกประการใด ก็คงจะมีเภทธรรมคือแตกทำลายเป็นที่สุด ก็เหมือนดังชีวิตแห่งสรรพสัตว์ทั้งหลายย่อมมีความตายเป็นที่สุดประดุจนั้น อดีตเอกศิลปิน แช่ม ขาวมีชื่อ ก็เฉกเช่นกัน เขาผู้มีมืออันอาจสำแดงฤทธ์นฤมิตกลการศิลปะได้อเนกนานาประการ จนชื่อได้ว่าเป็นเบื้องทักษณาหัตถ์แห่งอาจารย์ผู้ฝึกสอน วาดวิจารเลขาก็ดี ปลุกปั้นวิจิตรประติมาก็ดี ย่อมได้เปรียบปานๆกัน อมตะรูปนายธนูผู้โก่งศร อีกทั้งตั้งอยู่ในที่เอตทัคคะแห่งศิลปะประติมาล้วนวิสุทธิศิลป์ ย่อมยังความเลื่อมใสให้แก่บุรุษทั้งปวง เนื่องด้วยนฤมลเป็นเหตุ หทัยอันแกร่งกล้าของศิลปินเอกต้องชอกช้ำอาดูรเทวษรุ่มร้อนหฤทัย ต้องดับวิปโยคทุกข์ด้วยน้ำเมรัย ยังชีพแทนพลาหารอยู่ทุกทิวาราตรี อินทรีย์ไหม้ไปด้วยเพลิง กล่าวคือความโศกเป็นนิรันดรกาล กระแสอสุชลนองนัยเนตรไม่รู้วาย ยากที่จักตัดอาลัยร้างซึ่งเสน่หา โศกาอาดูรเดือดร้อนอยู่จวบกาลนาน จนสิ้นชีวิตลงในศักราช ๒๔๘๕ ปลายศกนั้น

ลุพุทธศักราช ๒๔๘๙ ยังมีมานพ ๖ นาย กับกุมารีอีกนางหนึ่ง สมัครใจเข้ามาศึกษายังสำนักนี้ เขาเหล่านั้นมีจิตกล้าแข็งยิ่งนัก มิได้หวั่นไหวต่ออาญาแห่งสำนักเรียน หมั่นพากเพียรแต่ป้ายสีหยาบๆ สลัดละทิ้งคติอะคาเดมิคเดิม ย่อมยังความปวดเศียรเวียนกล้าให้แก่เหล่าคณาจารย์ยิ่งนัก มาตรว่าจะตัดใจปล่อยให้เขาทำทุราจารสืบไป ย่อมไม่เป็นผลดีแก่เขาอย่าแน่แท้ แต่ต้องจำยอมปล่อยไปตามใจชอบ เขายิ่งกำเริบเสิบสานก่อตั้งคณะก๊อกขึ้นมา ดังจะเย้ยหยันให้ต้องถูกอัปเปหิออกไปฉะนี้น จวบจนเกิดมิคสัญญีดังเปลวไฟไหม้ลามไปทั่วถิ่นสถาน อัครอาจารย์เฟโรจี จำต้องพรากจากไปเนายังสถานแดนไกล เบื้องมาตุภูมิเดิม จำบำราศร้างออกไปสู่อัสดงคตประเทศแสนอาลัยเทวษ รับเหตุวิปริตแห่งแผ่นดิน กมลหมองทนลำบากอัปยศ สิ้นยศสง่าหาอำนาจบ่มิได้ ครุวนาดุจราชรถอันมีงอนปราศจารธงไชย มิฉะนั้น ดุจกองไฟอันปราศจากควัน ถ้ามิฉะนั้น ดุจราชธานีอันไม่มีบรมกษัตริย์จักดำรงไอศุริยสมบัติครอบครอง จะต้องแต่ติฉินยินร้ายบ่วายอัประมาณ เหล่าศิษยานุศิษย์ต่างประเทวนาการพิลาฟ เนตรนองอาบไปด้วยอสุชลวารี ประหนึ่งว่าจะพากันจมลงในกลางสมุทร กล่าวคือความโศกอันกุมาราแลกุมารีทั้งหลายเสวยวิดประโยคทึกขเวทนา อันไร้ร้างบำราศพระอาจารย์ในครานั้น

ลุล่วงมาอีกขวบปีเต็ม รัฐบาลดำหริว่า ซึ่งเราทิ้งมหาวิทาลัยศิลปากร ปล่อยร้างไว้นั้น จักเป็นโทษยิ่งกว่าเป็นคุณ ประเทศชาติอันกำลังพัฒนาอยู่อยู่ย่อม ถอยกำลังลง ถึงมาตรว่าจักเป็นผลของรัฐบาลก่อน ก็ไม่เกรงว่าจะเสื่อมเกียรแต่อย่างไร เราจะบำรุงเอาไว้ จะให้เป็นเกียรติยศตราบเท่ากัลปาวสาน จึงบัญชาให้อำมาตย์แห่ง กระทรวงศึกษา มีหนังสือเรียกตัวศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี กลับโดยด่วน ในปลายพระพุทธศักราช ๒๔๙๑ นั้นแลฯ
ฝ่ายมหาวิทยาลัยศิลปากรแจ้งกิจการในรัฐบาล จึงประชุมปรึกษากันสั่งเป็นสมัยการศึกษาทันที หลังจากพักการสอนมาเป็นเวลานาน บัดนี้ท่านเอกอัครมหาเสาบดีชุดรัฐบาลใหม่ ได้เมตตาปรานีหวังจะให้เปิดการอบรมสั่งสอนกุลบุตรไทยสืบไป เพื่อบำรุงไว้เป็นหลักไชยของประเทศ ครั้นจะมิสั่งให้เปิดการศึกษาไซร้ เห็นว่าเสถียรภาพของรัฐบาลจัดเสื่อมสูญเป็นแน่แท้ เพราะฝ่ายค้านของรัฐบาลนั้นเล่า ย่อยคอยจ้องจะเอาโทษอยู่แล้ว แลซึ่งจะขืนดื้อดึงต่อไป ก็เกรงจะเสียทีแก่เขาเป็นมั่นคงฯ

ขณะนั้นศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เมื่อยังอยู่ในประเทศอิตาลี เกิดมีความรฦกถึงศิษย์ยังเมืองไทยเป็นกำลัง จึงคิดย้อนไปยัง ณ หนหลัง แต่สมัยเมื่องยังมิได้ก่อตั้งโรงเรียนขึ้นมานั้น เราได้เข้าไปสู่เมืองไทย เมื่อปี พุทธศักราช ๒๔๖๖ มาจนบัดนี้ก็ล่วงเข้า ๒๕ ขวบปี ได้ปลูกฝังความรู้แห่งศิลปะไว้มิใช่น้อย คิดจะทำนุบำรุงให้สืบวิชาไว้สืบไป จำจะต้องปรึกษากับผู้เป็นหลักของสำนัก จักก่อตั้งโรงเรียนฝึกสอนศิลปะ ในครั้งนั้นมีผู้ร่วมใจกันคือ พระสาโรชรัตนนิมาก์๑ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี๑ เห็นพ้องต้องกันว่าควรจักเปิดโรงเรียนประณีตศิลปกรรมขึ้น การก็เป็นไปสมคะเนคิด ศิษยานุศิษย์ก็มากมีมาล้นหลาม แต่ละผู้มิหวังประโยชน์ผลแต่ประการใด หวังจักรับวิชาไว้ไปประดับสติปัญญา ที่จักเอาไปก่อเกื้อกิจราชการเมืองก็หาไม่ สืบต่อมาอีกหลายขวบปี ก็ได้วิวัฒนาการมาเป็นมหาวิทยาลัย และจักต้องชะงักงันเสมือนนาวาอันโดนพายุร้ายถึงแก่อับปางลง ฉะนั้น

ครั้นได้กลับมายังเมืองไทย ก็ได้ระดมทุ่มเทกำลังใจสอนเป็นการใหญ่ จนมั่นคงจำเนียรกาลล่วงมาถึงปรัตยุบันนี้ ก่อให้เกิดกิ่งก้านสาขาคณะวิชาแปลกๆพรรณกันไป อาทิ ผดุงไว้ในวิชามัณฑนะศิลป์ อีกทั้งสถาปัตยกรรม ทั้งโบราณวิทยา สามารถรอบรู้ในวรรณคดี อีกมีจารจารึกไว้บนแผ่นศิลา หินผาอีกมากมาย เลือกล้วนเรียนกันบ่มิรู้จบสิ้น

ลุศักราช ๒๕๐๕ ปีขาล วันจันทร ขึ้น๑๑ ค่ำ เดือน๖ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี อาพาธหนักถึงแก่กรรม สิริอายุได้ ๗๐ พรรษา หลังจากการผ่าตัด ณ ศิริราชพยาบาล ย่อยยังความโศกาดูรสู่มวลผู้ใกล้ชิดสนิทเสน่หา อีกทั้งศิษยานุศิษย์ พราะราคาพาธประกอบด้วยกำลังกล้าบังเกิดในสิริองคาพยพ เหตุถึงกาลกำหนดที่จะสละสังขารนั้นแล ศิษย์ทั้งหลายก็ร้องร่ำกำสรด ปริเทวนาการด้วยเอกัคตพร้อมกันเป็นอันเดียว

( จบฉบับสมุดข่อยเขียนด้วยตัวรงค์เพียงแค่นี้ เข้าว่าจะมีฉบับ ๒ และ ๓ ต่อไป คณะกรรมการหอสมุดมั่นใจว่าจะรวบรวมฉบับอื่นไว้ดได้ครบถ้วน แม้ฉบันนี้กว่าจะได้มาก็นับว่าแปลดพิสดารมาก คือยายแก่คนหนึ่งกำลังจะนำไปเผาไฟ บังเอิญเจ้าหน้าที่ผู้มีความรู้ผ่านไปพบเข้า ได้ขอซื้อมา พงศาวดารฉบับนี้จึงได้มาปรากฎแก่สายตาท่าน ณ บัดนี้)
ปล. นายซีเนียร์ เป็นอีกนามปากกาของ ประยูร อุลุชาฎะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น